สถานที่ท่องเที่ยวของชุมชนแหลมสัก

แหลมสัก

ดินแดนทะเลสามด้าน วัฒนธรรมสามสาย

อันดามันโอบไว้ให้เป็นแหลม  โกงกางแซมงดงามตามโขดเขา

ภาพเขียนสีโบราณแต่นานเนา  คอยบอกเราว่าถิ่นนี้เคยมีคน

ผืนดินนี้ร่มเย็นเป็นศรีศักดิ์  อัตลักษณ์บ่งบอกผลิดอกผล

ทั้งไทยพุทธมุสลิมอยู่ปะปน  กับเหล่าชนบาบ๋ามาช้านาน

วัฒนธรรมสามสายได้หล่อหลอม  อย่างออมชอมใจรวมร่วมประสาน

บรรพชนทำให้เห็นเป็นตำนาน  เราลูกหลานแหลมสักจึงรักกัน ๚

 “แหลมสัก ดินแดนทะเลสามด้าน”

เนื่องจากมีลักษณะทางภูมิศาสตร์เป็นพื้นที่ปลายแหลมยื่นไปในทะเลอันดามัน มีทะเลโอบล้อมสามด้าน นับได้ว่าแหลมสักเป็นประตูสู่ทะเลอันดามันที่มีความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติและมีความสวยงามระดับโลก

“แหลมสัก ดินแดนวัฒนธรรมสามสาย” 

เนื่องจากเป็นแหล่งรวมของสามสายวัฒนธรรม อันได้แก่ ไทยพุทธ ไทยมุสลิม และไทยเชื้อสายจีน มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 100 ปี บรรพบุรุษของชาวไทยพุทธส่วนใหญ่เคลื่อนตัวมาจากเมืองนครศรีธรรมราชและจากเมืองปากลาว ในขณะที่บรรพบุรุษของชาวไทยมุสลิมอพยพมาจากรัฐปะลิส ประเทศมาเลเซีย และบรรพบุรุษของชาวไทยเชื้อสายจีน (บาบ๋าย่าหยา) อพยพมาจากมณฑลฮกเกี้ยน ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน

เมื่อผู้คนอพยพมาตั้งรกราก ณ คาบสมุทรมาลายู มีการแต่งงานกับคนพื้นถิ่น เมื่อมีลูกหลานซึ่งเป็นลูกผสม จึงเกิดเป็นวัฒนธรรมผสมผสานที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัวและมีความเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร โดยมีคำเรียกลูกผสมเหล่านี้โดยรวมว่า “ชาวเปอรานากัน” ซึ่งคำว่า “เปอรานากัน” แปลว่า “เกิดที่นี่”

จากลักษณะทางภูมิศาสตร์และวิถีวัฒนธรรมของผู้คน “แหลมสัก” จึงเป็นดินแดน “ทะเลสามด้าน วัฒนธรรมสามสาย” และเรียกได้ว่า เป็น “ประตูสู่อันดามัน เปอรานากันสามวิถี” อันแสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของแหลมสักทั้งทางด้านธรรมชาติที่สวยงามและทางด้านวิถีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นไม่เหมือนใคร มีเสน่ห์ชวนให้นักท่องเที่ยวมาสัมผัสถึงเรื่องราวที่มีคุณค่าท่ามกลางความสวยงามของท้องทะเลอันดามันที่มีความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติอย่างน่าประทับใจ

แหลมสัก เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนที่บริหารจัดการโดยองค์กรชุมชนที่เกิดจากการรวมตัวกันของชาวบ้านในตำบลแหลมสักทั้ง 6 หมู่บ้าน จัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวแหลมสัก มีการจัดการอย่างเป็นระบบเพื่อให้บริการด้านการท่องเที่ยวแก่นักท่องเที่ยวหรือลูกค้าให้เกิดความประทับใจ บนฐานการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การคงคุณค่าของอัตลักษณ์ชุมชน พร้อมทั้งสร้างและกระจายรายได้แก่ผู้คนในชุมชนอย่างเป็นธรรม ทั้งนี้เพื่อสร้างความสุขแก่ทั้งนักท่องเที่ยวหรือลูกค้าและผู้คนในชุมชนอย่างยั่งยืน

ตุกนทราย

๏ “ตุกนทราย”อย่าหมายจะได้พบ ยามเร้นหลบซ่อนกายใต้ละหาร สามค่ำถึงหกค่ำคำประมาณ จึงพบพานสัมผัสได้ดังใจปอง อยากชวนเจ้ามานั่งข้างข้างพี่ บนหาดทรายแห่งนี้มีเราสอง จิบกาแฟยามเช้าเฝ้าคอยมอง แสงเรืองรองส่องสวรรค์วันอรุณ มีทะเลโอบล้อมพร้อมขุนเขา คอยเป็นเพื่อนบังเงาให้ไออุ่น หนีชีวิตวุ่นวายชุลมุน มานอนหนุนธรรมชาติสะอาดใจ ๚ คำว่า ตุกน หมายถึงโขดหินกลางทะเล ดังนั้น ตุกนทรายจึงแปลตรงตัวว่าโขดหินและทรายกลางทะเลนั่นเอง ตุกนทรายเหมาะแก่การไปยืนบนหาดทรายซึ่งมีทะเลล้อมรอบ 360º เฝ้ามองและรับแสงแรกของพระอาทิตย์แห่งวันใหม่ พร้อมกับสูดลมหายใจลึกๆ รับเอาอากาศที่แสนบริสุทธิ์และสดชื่นเข้าเต็มปอด เสน่ห์อย่างหนึ่งของตุกนทรายคือเราไม่สามารถพบเห็นได้ทุกเวลา ตุกนทรายจะโผล่ให้เราชื่นชมแสงแรกแห่งวันได้ในช่วงข้างขึ้นหรือข้างแรม 3 ค่ำถึง 6 ค่ำเท่านั้น โดยการนั่งเรือหัวโทงของชุมชนจากท่าเทียบเรือแหลมสัก ใช้เวลาไม่ถึง 10 นาที

ผาเขาค้อม

๏ “ผาเขาค้อม”น้อมผามาค้อมเขา คอยบังเงาแดดฝนให้คนพัก เขานอบน้อมค้อมผามารู้จัก เฝ้าทายทักแสงสวรรค์วันอรุณ พร้อมรอรับมหัศจรรย์เช้าวันใหม่ วันเวลาผันไปไม่หยุดหมุน มีสักครั้งกายใจได้สมดุล ลดความวุ่นวายใจไม่กังวล หยุดเวลาทิ้งไปปล่อยใจว่าง อยู่ท่ามกลางธรรมชาติไม่สับสน เติมพลังบริสุทธิ์ไม่เปื้อนปน เพิ่มคุณค่าตัวตนตามหนทาง ๚ เป็นเพิงผาที่มีลักษณะเว้าเข้าไปในขุนเขาตลอดความยาวประมาณ 100 เมตร ให้ผู้คนไปยืนหรือนั่งชมพระอาทิตย์ขึ้นยามอรุโณทัยกับคนรู้ใจท่ามกลางบรรยากาศอันสุดแสนโรแมนติก ถือเป็นมหัศจรรย์ของธรรมชาติอีกแห่งหนึ่งที่ต้องหาโอกาสไปสัมผัส

กระชังปลา/สาหร่าย @อ่าวเหนา

๏ กระชังปลาสาหร่ายพวงองุ่น แหล่งเจือจุนรายได้ให้ชาวบ้าน เศรษฐกิจชุมชนพอประมาณ แหล่งศึกษาดูงานการประมง อันสาหร่ายมากมีคุณประโยชน์ ทำอาหารจานโปรดตามประสงค์ ทั้งส้มตำน้ำพริกประกอบองค์ ล้วนเสริมส่งสุขภาพเอิบอาบกาย ทำเป็นเจลครีมทาบำรุงผิว ลดรอยริ้วรอยคล้ำรอยดำหาย จึงคุณค่าโดดเด่นเห็นมากมาย ช่วยผ่อนคลายกายใจให้เบิกบาน ๚ บริเวณอ่าวเหนาเป็นเวิ้งอ่าวที่น้ำทะเลสงบนิ่งคลื่นลมไม่แรง เหมาะแก่การเลี้ยงปลา, กุ้งมังกร และสาหร่าย เราจึงเห็นกระชังเลี้ยงปลา, กุ้งมังกร และสาหร่ายพวงองุ่นของชาวบ้านในชุมชนลอยเรียงรายเป็นทิวแถว ดังนั้นนอกจากเป็นจุดแวะทานอาหารเช้าแล้ว เรายังได้สัมผัสวิถีประมงชายฝั่ง ได้เรียนรู้การเลี้ยงปลาในกระชัง มีทั้งปลาช่อนทะเล ปลากะพง ปลาเก๋า การเลี้ยงกุ้งมังกร และสาหร่ายพวงองุ่นในกระชัง นักท่องเที่ยวยังได้ลงมือปลูกสาหร่ายพวงองุ่นในกระชังของชุมชน และชิมสาหร่ายสดๆ ซึ่งเพียบพร้อมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการอีกด้วย หากติดใจก็สามารถซื้อติดไม้ติดมือกลับไปได้ หรือจะไปสั่งเมนูเด็ด “ส้มตำ-สาหร่าย” หลังจากกลับขึ้นฝั่งแล้ว ทางชุมชนก็มีไว้บริการทุกท่าน

เหลาหัน

๏ ถึง”เหลาหัน”พลันเห็นเป็นเขาหัน จากต้นไม้เปลี่ยนผันเป็นหน้าผา พลันนึกถึงวันวารที่ผ่านมา อนิจจาไม่นิ่งสักสิ่งอัน เป็นหินแปลกแทรกน้ำมาย้ำว่า ธรรมชาติเกิดมาเพื่อสร้างสรรค์ เตือนสติอย่าเผลอตนจนถึงวัน ต้องพลิกผันผิดคาดไม่อาจเดา เป็นเพราะความแตกต่างทางน้ำไหล ประคองให้เรือลอยรอบภูเขา นั่งในเรือเห็นภูผาผ่านหน้าเรา จึงเรียกเหลาหันกันแต่นั้นมา ๚ เป็นภูเขาหินปูนโผล่กลางทะเล ด้านหนึ่งเป็นหน้าผาราบเรียบในขณะที่อีกด้านของภูเขามีต้นไม้แคระแกร็นคล้ายบอนไซขึ้นอยู่หนาแน่น จึงมีนักท่องเที่ยวบางกลุ่มเรียกกันว่า “เสาหินบอนไซ” ส่วนคำว่า “เหลาหัน” นั้น ชาวบ้านเรียกตามลักษณะความคุ้นเคย คำว่า “เหลา” หมายถึง เกาะหรือภูเขากลางทะเล ส่วนคำว่า “หัน” นั้น ภาษาใต้หมายถึงการหมุน เวลาเรือชาวบ้านมาถึงบริเวณนี้หากจอดเรือให้ลอยลำอยู่เฉยๆ กระแสน้ำจะค่อยๆทำให้เรือเคลื่อนตัวไปรอบภูเขา คนในเรือก็จะเห็นเหมือนภูเขาหมุนรอบเรือ จึงเรียกกันว่า “เหลาหัน” ซึ่งหมายถึงภูเขาหมุนนั่นเอง

ภาพเขียนสี 3000 ปี @ ถ้ำชาวเล/แหลมชาวเล

๏ ทั้งแหลมถ้ำชาวเลคะเนได้ เคยมีคนอาศัยใช้ชีวิต เห็นบันทึกเรื่องราวเล่าลิขิต จากโลหิตยางไม้เป็นลายคน สันนิษฐานถึงคนชนรุ่นก่อน ใช้โถงถ้ำหลบซ่อนแดดลมฝน สามพันปีให้หลังยังคงทน เผยตัวตนทิ้งไว้เป็นลายแทง บอกให้รู้เส้นทางมนุษย์ถ้ำ กิจกรรมวิถีมีแถลง ให้ผู้คนภายหลังหวังแจกแจง ได้เป็นแหล่งศึกษาวิชาคน ๚ ณ “ถ้ำชาวเล” และ “แหลมชาวเล” ซึ่งอยู่ใกล้ๆกัน เราจะได้พบกับภาพเขียนสีโบราณอายุไม่ต่ำกว่า 3,000 ปี ซึ่งเป็นยุคเดียวกับภาพเขียนสีรูปคนสวมเขาสัตว์ในถ้ำผีหัวโตอันเป็นที่รู้จักแพร่หลายในนาม “มิสเตอร์อ่าวลึก” ภาพเขียนสีบริเวณ “ถ้ำชาวเล” และ “แหลมชาวเล” เป็นภาพคนกำลังทำกิจกรรมร่วมกันหลายอย่าง อาทิ ทานอาหาร เล่นดนตรี และยังมีภาพคนนั่งบนหลังสัตว์ถืออาวุธ คล้ายกำลังล่าสัตว์ จึงสันนิษฐานกันว่า สถานที่บริเวณนี้ในอดีตน่าจะมีส่วนเป็นผืนดินติดกับผืนแผ่นดินใหญ่ คนในสมัยก่อนจึงทำกิจกรรมล่าสัตว์ดังเห็นในรูปที่เขียนบันทึกได้

เขาเหล็กโคน

๏ เป็นหมุดหลักปักไว้บอกให้รู้ ตอนนี้อยู่เขตแดนแคว้นแหลมสัก “เขาเหล็กโคน”เด่นสวยด้วยรูปลักษณ์ ตอกสลักหนักแน่นแทนวาจา มองภูเขาเฝ้าคิดอธิษฐาน ให้การงานมั่นคงดั่งภูผา แม้คลื่นลมโถมกระหน่ำไม่นำพา คงเดินหน้าก้าวไปไม่สั่นคลอน ทั้งความรักทรัพย์สินไม่สิ้นหมด ทั้งลาภยศเลื่องลือชื่อกระฉ่อน เหมือนภูเขาเนาอยู่คู่สาคร เป็นคำพรส่งสู่ผู้มาเยือน ๚ คำว่า “เหล็กโคน” เป็นภาษาใต้ใช้เรียก “ตะปู” ดังนั้น “เขาเหล็กโคน” จึงหมายถึงภูเขาที่มีลักษณะคล้ายตะปูตอกปักอยู่ในทะเลนั่นเอง “เขาเหล็กโคน” ซึ่งถือว่าเป็น Land Mark ทางทะเลของแหลมสักก็ว่าได้ “เขาเหล็กโคน” เป็นสัญลักษณ์แทนการปักหมุดแสดงตัวตนว่าที่นี่คือท้องทะเลแหลมสัก นักท่องเที่ยวมาถึงที่นี่พลาดไม่ได้ที่จะต้องเก็บภาพประทับใจ ภาพแสดงพละกำลังความแข็งแรง โดยใช้ฝ่ามือรองรับเขาเหล็กโคนทั้งลูกไว้ในมือ

ภาพคนคู่ และ หัวใจแห่งขุนเขา @แหลมไฟไหม้

๏ อันความรักคงมั่นนั้นมีอยู่ ภาพคนคู่เคียงกันบันทึกไว้ แม้นขุนเขายังให้เห็นเป็นหัวใจ บอกเป็นนัยถึงความรักประจักษ์ตา อันความรักสลักจิตพิศวาส ไม่เลือกชื่อเชื้อชาติศาสนา ไม่เลือกที่ถิ่นสถานกาลเวลา แม้นภูผาสิงขรยังอ่อนลง ชวนคนรักพี่น้องเพื่อนสนิท มาตั้งจิตอธิษฐานความประสงค์ ให้ความรักจริงแท้แลมั่นคง อยู่ดำรงสืบไปไม่จืดจาง ๚ สาเหตุที่เรียกกันว่า “แหลมไฟไหม้” เนื่องจากบริเวณนี้มีต้นไม้ตระกูลเฟิร์นขึ้นอยู่มากมายบนภูเขา พอถึงหน้าร้อนใบเฟิร์นแห้งกรอบเป็นเชื้อไฟอย่างดี เกิดไฟลุกไหม้จากการเสียดสีของกิ่งไม้ลุกลามไหม้ใบเฟิร์นอยู่บ่อยครั้ง ชาวบ้านจึงเรียกที่แห่งนี้ว่า “แหลมไฟไหม้” ฟังชื่ออาจรู้สึกร้อนรุ่ม แต่เมื่อได้มาพบกับภาพเขียนสีโบราณรูปคล้ายคน 2 คนประคองกอดจนตัวติดกัน เห็นเป็น 4 ขา 2 มือ แล้วทำให้สัมผัสได้ถึงกลิ่นอายของความรัก หาได้รุ่มร้อนเหมือนชื่อสถานที่ไม่ อีกทั้งโขดเขาบริเวณปลายแหลมยังมีช่องทะลุเป็นรูปหัวใจดวงน้อยๆ สว่างไสวเห็นได้ชัดเจน ยิ่งตอกย้ำว่าสถานที่แห่งนี้มีแต่บรรยากาศแห่งความรัก ความผูกพัน เหมาะกับคู่รัก เพื่อนรัก สมาชิกในครอบครัว มาเติมเต็มความรักแก่กันเป็นอย่างยิ่ง

เขาฝาแฝด

๏ ยืนเป็นคู่ดูสง่า”เขาฝาแฝด” แม้นถูกแดดแผดเผาให้เร่าร้อน อย่าได้หมายสองฉันจะสั่นคลอน ด้วยเราซ้อนหัวใจไว้คู่กัน ซึ่งความรักพันผูกถูกกำหนด ไม่มีลดตามกาลที่ผ่านผัน เป็นคู่คิดชิดชื่นทุกคืนวัน สายสัมพันธ์แน่นเหนียวเป็นเกลียวกลม ปรารถนามีคู่อยู่เคียงข้าง อยากได้ผู้ร่วมทางอย่างเหมาะสม ปรารถนาลูกแฝดไว้ชื่นชม จักได้สมความคิดไม่บิดเบือน ๚ ภูเขา 2 ลูก สูงใหญ่ใกล้เคียงกัน ยืนอยู่เคียงข้างกัน รอคอยฝาแฝดคู่ต่างๆ จากทั่วสารทิศมาแสดงตัวต่อกัน อย่างภาคภูมิใจในสายสัมพันธ์ของสายเลือดที่ไม่มีวันจางหาย

เหลืองกระบี่ ที่ เขาช้างหมอบ

๏ “เหลืองกระบี่” ที่เก่า “เขาช้างหมอบ” อาศัยรอบเชิงเขาเฝ้าภูผา สีเหลืองสดงดงามตามสมญา รองเท้านารีสวยกล้วยไม้ไทย แต่กาลก่อนผู้คนดั้นด้นหา ปีนภูผาเลาะลัดตัดกล้วยไม้ จำนวนลดถดถอยน้อยลงไป ความสวยใสธรรมชาติก็ขาดตอน มาบัดนี้ชาวบ้านร่วมฟูฟื้น ร่วมเพาะพันธุ์เพื่อคืนสู่สิงขร คนกับป่าพึ่งพาเอื้ออาทร ความเดือนร้อนผ่อนหายมลายไป ๚ “เขาช้างหมอบ” เป็นแหล่งที่อยู่ตามธรรมชาติของกล้วยไม้นานาพรรณ โดยเฉพาะกล้วยไม้รองเท้านารีเหลืองกระบี่ และกล้วยไม้เอื้องกุหลาบกระบี่ ซึ่งเป็นกล้วยไม้ประจำจังหวัดกระบี่ “เขาช้างหมอบ” เป็นจุดปลูกกล้วยไม้คืนป่า อันเป็นกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เราจะได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และเพิ่มปริมาณกล้วยไม้ให้กับป่าและได้ชื่นชมกับความสวยงามของพันธุ์กล้วยไม้นานาชนิดที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ที่นี่จะมีกิจกรรม “คืนกล้วยไม้ถวายแม่” ในเดือนสิงหาคม ทุกๆปีจะมีนักท่องเที่ยว นักอนุรักษ์ และผู้หลงใหลในกล้วยไม้มาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง

อ่าวชิ้งชั้ง

๏ “อ่าวชิ้งชั้ง” รั้งใจให้ต้องอยู่ หากมีเจ้าเคียงคู่อยู่ที่นี่ จะชวนเจ้าเล่นน้ำฉ่ำชีวี อยากหลีกหนีความวุ่นวายผ่อนคลายใจ เป็นเวิ้งอ่าวเว้าไปในขุนเขา มีต้นไม้บังเงาโบกไหวไหว ทะเลสีมรกตสดละไม มีชายหาดพาดไว้ให้รื่นรมย์ ปล่อยเวลาเดินไปไม่ตามติด ไม่ครุ่นคิดสิ่งใดให้ทับถม ทำใจโล่งโปร่งกายตามสายลม นั่งชื่นชมธรรมชาติดื่นดาษตา ๚ “อ่าวชิ้งชั้ง” เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการมุมสงบสำหรับนั่งเล่น, นอนเล่น หรืออยากจะลงเล่นน้ำให้ฉ่ำใจ ใช้เวลานั่งเรือหัวโทงจากท่าเทียบเรือแหลมสักประมาณ 20 นาที จะพบกับหาดทรายทอดยาวในเวิ้ง “อ่าวชิ้งชั้ง” แม้ทรายจะไม่ขาวเนียนและน้ำทะเลอาจจะไม่ใสนัก แต่นักท่องเที่ยวสามารถเล่นน้ำได้อย่างปลอดภัยและมีความเป็นส่วนตัวไม่วุ่นวาย

สามแยกวัฒนธรรม

จุดศูนย์กลางและจุดเชื่อมโยงสายใยระหว่างวัฒนธรรม 3 สาย หากเดินทางจากสามแยกวัฒนธรรมมาทางตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 200 เมตร เราจะพบกับ “วัดมหาธาตุแหลมสัก” ศูนย์รวมจิตใจของไทยพุทธ หากเดินทางไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 200 เมตร เราจะพบกับ “มัสยิดซอลาฮุดดีน” หรือ “มัสยิดบ้านหัวแหลม” ตั้งอยู่กลางชุมชนบ้านหัวแหลม เป็นที่ประกอบศาสนกิจและที่รวมตัวกันยามมีกิจกรรมต่างๆของพี่น้องไทยมุสลิมชุมชนบ้านหัวแหลม หากเดินทางขึ้นไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 150 เมตร เราจะพบกับ “ศาลเจ้าซกโป้ซีเอี๋ย” ศาลเจ้าเก่าแก่กว่า 100 ปี ตั้งอยู่บนเนินหันหน้าสู่ทะเล ดูโดดเด่นเป็นสง่าน่าเกรงขาม ศูนย์รวมจิตใจของชาวบาบ๋าย่าหยาหรือไทยจีน

วัดมหาธาตุแหลมสัก

๏ องค์เจดีย์วัดแหลมสักเด่นสง่า ส่องแสงแห่งศรัทธาสว่างไสว สถิตฝั่งอันดามันอันกว้างไกล แหล่งรวมใจชาวพุทธพิสุทธิ์คาม ท่วงทำนองจริยวัตรภิกษุสงฆ์ ล้วนดำรงคงวิถีไม่มีข้าม กลิ่นแห่งบุญบารมีที่งดงาม ทั่วเขตคามปรารถนาได้มายล สถานที่สัปปายะที่ละลด ที่ล้างจิตหมดจดบรรลุผล เชิญสัมผัสค้นคว้าหาตัวตน ลบล้างความสับสนมืดมนใจ ๚ เดิมชาวบ้านเรียกว่า “วัดควนวิเวการาม” เป็นวัดธรรมยุตนิกายที่มีพระธุดงค์จากภาคอีสานเดินทางมาปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่องนับจากปี ๒๔๙๒ พระภิกษุสายวัดป่า สายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต หลายรูปได้ธุดงค์มาพักปฏิบัติธรรมที่นี่ระยะหนึ่งด้วยเช่นกัน อาทิ หลวงปู่หล้า เขมปัตโต พระอาจารย์อาจ พระอาจารย์คำผาย พระอาจารย์จันทร์แรม เขมสิริ หลวงปู่เนตร จิรปุญโญ ศิษย์ของหลวงปู่เทสก์ เทสรังสีเป็นเจ้าอาวาสท่านแรก และพระชูศักดิ์ ปัญญาสักโก ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสจนถึงปัจจุบัน วัดมหาธาตุแหลมสัก สงบ ร่มรื่น สะอาด เหมาะสำหรับพุทธศาสนิกชนผู้ต้องการหาที่สัปปายะสำหรับปฏิบัติธรรม ผู้ต้องการหาความสงบทางใจ และนักท่องเที่ยวที่อยากสัมผัสวัฒนธรรมท่ามกลางธรรมชาติที่สวยงาม สามารถขึ้นชมทัศนียภาพ 360º อันงดงามตระการตาของชุมชนแหลมสักได้จากจุดชมวิวบนมหาเจดีย์วัดมหาธาตุแหลมสัก ทั้งนี้มหาเจดีย์วัดมหาธาตุแหลมสักถือได้ว่าเป็นมหาเจดีย์แห่งเดียวที่ตั้งอยู่ริมฝั่งอันดามัน

ศาลเจ้าซกโป้ซีเอี๋ย

๏ ศูนย์รวมใจไทยจีนชนบาบ๋า ตั้งแต่ร้อยปีกว่ามาอาศัย ศาลเจ้าซกโป้ซีเอี๋ยที่คุ้มภัย บันดาลให้ลูกหลานงานเจริญ โล้สำเภาจากฮกเกี้ยนเพื่อเปลี่ยนที่ จากน้องพี่ผันผกระหกระเหิน ความทุกข์ยากอยากหนีที่เผชิญ จำใจเดินทางมาเวลานาน ตั้งถิ่นฐานอาศัยให้กำเนิด วัฒนธรรมก่อเกิดผสมผสาน จีนกับไทยได้นำสู่ตำนาน เกิดลูกหลานบาบ๋าย่าหยาไทย ๚ ศาลเจ้าเก่าแก่กว่า 100 ปี ตั้งอยู่บนเนินหันหน้าสู่ทะเล ดูโดดเด่นเป็นสง่าน่าเกรงขาม ศาลเจ้าซกโป้ซีเอี๋ยเกิดขึ้นจากการร่วมแรงร่วมใจกันของชาวจีนที่อพยพย้ายถิ่นฐานมาปักหลักที่หน้าตลาดแหลมสักเมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว เพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและใช้เป็นศูนย์รวมทั้งทางด้านการศึกษา สาธารณสุข และตุลาการ โดยมีองค์เทพเจ้าซกโป้ซีเอี๋ยเป็นที่พึ่ง รูปเหมือนเทพเจ้าต่างๆ ที่บรรพชนนำติดตัวมาจากเมืองจีนครั้งล่องเรือสำเภาร่อนเร่กลางทะเลเป็นแรมเดือนเพื่อนำโชคและคุ้มครองให้ปลอดภัยจากอันตรายทั้งปวงยังคงถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี ทุกๆปีช่วงวันขึ้น 11-15ค่ำ เดือนสองของจีน จะมีพิธี “ถือศีลกินเจ” ในงานเฉลิมฉลองวันเกิดของเทพเจ้าซกโป้ซีเอี๋ย ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือและเป็นที่พึ่งทางใจทางหนึ่งของชาวบาบ๋าย่าหยาแหลมสัก

มัสยิดซอลาฮุดดีน

๏ ด้านพี่น้องมุสลิมริมชายฝั่ง ร่วมก่อตั้งศูนย์รวมศาสนา มัสยิดบ้านหัวแหลมก่อเกิดมา แหล่งศึกษาชีวิตอิสลาม มุสลิมย้ายมาจากเปอร์ลิส เศรษฐกิจตกต่ำเกิดคำถาม โยกย้ายถิ่นสถานใหม่ไกลเขตคาม แจวเรืองามล่องมาหลายราตรี มาขึ้นฝั่งทางด้านตะวันตก บ้านต้นบกอ่าวน้ำตามวิถี อยู่ร่วมกันสามสายด้วยไมตรี จึงที่นี่มีพหุวัฒนธรรม ๚ “มัสยิดซอลาฮุดดีน” หรือ “มัสยิดบ้านหัวแหลม” ตั้งอยู่กลางชุมชนบ้านหัวแหลม เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวมุสลิม เป็นที่ประกอบศาสนกิจ และที่รวมตัวกันยามมีกิจกรรมต่างๆของพี่น้องมุสลิมชุมชนบ้านหัวแหลม

บลูเฮ้าส์ และบ้านบาบ๋าโบราณ

๏ ณ อาคารชิโนโปรตุกีส ช่างประณีตงดงามมีความหมาย สื่อความคิดเล่าขานผ่านลวดลาย ปรากฏกายชื่อบลูเฮ้าส์ได้เล่าความ ได้เรียนรู้เรื่องราวชาวบาบ๋า จากฮกเกี้ยนล่องมาเมืองสยาม ถึงแหลมสักพักดูพอรู้ความ ว่าเขตคามถิ่นนี้เหมาะดีจริง ตัดสินใจตั้งหลักปักถิ่นฐาน แลสร้างบ้านผสานผสมน่าชมยิ่ง ทั้งเสื้อผ้าอาหารตระการจริง ชุดผู้หญิงย่าหยาโสภาพรรณ ๚ บลูเฮ้าส์ และบ้านบาบ๋าโบราณที่มีอายุกว่า 100 ปี เป็นสถาปัตยกรรมที่บ่งบอกถึงวัฒนธรรมผสมผสานระหว่างจีนและยุโรป ที่มีความสวยงาม ลงตัว เรียกกันว่าเป็นสไตล์ “ชิโน-โปรตุกีส” หรือ”ชิโน-ยูโรเปี้ยน” สื่อถึงอัตลักษณ์ของชาวไทยเชื้อสายจีน ที่เรียกกันว่า ชาวบาบ๋าย่าหยา บลูเฮ้าส์เป็นอาคารส่วนต้อนรับของบุหลันอันดาบาบ๋ารีสอร์ท อยู่ ณ ปลายสุดของแหลมสัก ที่นี่ยังมีชุดบาบ๋าย่าหยาไว้บริการให้เช่าถ่ายรูปกับอาคารชิโน-โปรตุกีส หรือถ่ายกับวิวหลักล้านที่ปลายแหลม เพื่อเก็บภาพความทรงจำไม่รู้ลืม บ้านบาบ๋าโบราณเป็นบ้านของชาวไทยเชื้อสายจีนที่อาศัยอยู่หน้าตลาดแหลมสัก ซึ่งเป็นจุดที่บรรพบุรุษของชาวบาบ๋าที่อพยพมาจากมณฑลฮกเกี้ยนประเทศจีนมาตั้งรกรากที่นี่ เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว

ทางเดินศึกษาธรรมชาติ Walkway @เขาช้างหมอบ

Walkway หรือทางเดินเท้าเพื่อศึกษาธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าชายเลน บริเวณเชิงเขาช้างหมอบ ซึ่งเป็นเส้นทางสำหรับทำกิจกรรม “ปลูกกล้วยไม้คืนป่า” อีกด้วย เป็นทางเดินเท้าที่มีโครงสร้างทำด้วยไม้ แข็งแรง ปลอดภัย มีความสวยงาม ลงตัวและกลมกลืนไปกับธรรมชาติ ความยาวรวมประมาณ 800 เมตร นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นจุดชมวิว สัมผัสกับทิวทัศน์ที่สวยงามตระการตาของเขาช้างหมอบ และป่าชายเลนที่ขนาบสองฝั่งคลองบ้านอ่าวน้ำได้อย่างชัดเจน

นั่งเรือหัวโทงล่องทะเลใน

นั่งเรือหัวโทงหรือเรือหางยาวซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของวิถีประมงชายฝั่งในจังหวัดฝั่งอันดามัน ล่องทะเลในที่โอบล้อมไปด้วยภูเขาหินปูน 360 องศา สามารถป้องกันคลื่นลมได้เป็นอย่างดี ทำให้น้ำทะเลค่อนข้างเรียบสงบ เที่ยวได้ทั้งปี เรือหัวโทงจะพาเราไปชมภาพเขียนสีโบราณอายุกว่า 3,000ปี ไปสัมผัสวิถีประมงชายฝั่งกับการเลี้ยงปลา/กุ้งมังกรและสาหร่ายพวงองุ่นในกระชัง ไปเล่นน้ำอย่างเป็นส่วนตัว ไปถ่ายรูปกับภูเขาสวยๆ รูปร่างแปลกตา เรือหัวโทงมีหลังคากันแดดและฝน มีเสื้อชูชีพและน้ำดื่มคอยบริการแก่ทุกท่าน